SkillLane สตาร์ทอัพ EdTech ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

SkillLane สตาร์ทอัพ EdTech ที่เชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของการเรียนไม่ได้จำกัดแค่ว่าต้องเรียนเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น การเรียนในสหัสวรรษใหม่ สามารถเล่าเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา

การเล่าเรียนที่ทำได้ทุกที่ทุกเวลานั้น ยิ่งทำให้สิ่งที่เรียกว่า “การเรียนรู้” บังเกิดเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด ตลอดตราบเท่าชั่วชีวิต

หนึ่งในบริษัทที่มีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดการเรียนรู้ที่ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ในห้องเรียน หรือระบบการศึกษาแบบเดิมที่คุ้นเคยกัน หนึ่งในนั้นก็คือ SkillLane ผู้ประกอบการด้านสตาร์ทอัพเพื่อการศึกษา หรือ Education Technology (EdTech)

เรา มีโอกาสได้สัมภาษณ์กับ นายกษิดิ์เดช ยนตรดิษฐถาวร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริษัท สกิลเลน เอดูเคชั่น จำกัด

กษิดิ์เดช เปิดเผยว่า SkillLane เป็นบริษัทสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งมาได้ประมาณ 8 ปีแล้ว ปัจจุบันมีผู้เรียนคอร์สต่างๆ ของ SkillLane ไปแล้วกว่า 6.5 แสนคน

กษิดิ์เดช กล่าวต่อไปว่า SkillLane มีความเชื่อบางอย่าง นั่นคือ ความเชื่อที่ว่า พลังของเทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงการศึกษาของไทยได้ อีกทั้งยังช่วยเรื่องทลายข้อจำกัดของการศึกษาไทย ผ่านการสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่ช่วยให้ผู้เรียนสะดวกสบาย สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งนั่นอาจทำให้ความเฟื่องฟูของการเรียนออนไลน์ที่เคยเป็นทางเลือกหลักในช่วง 2 ปีของการแพร่ระบาดอาจซบเซาลงไป

แต่ในมุมมองของกษิดิ์เดช ยังคงเชื่อว่า สตาร์ทอัพที่อยู่ในกลุ่มของ EdTech น่าจะยังอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป กษิดิ์เดช กล่าวต่อไปว่า ในความเป็นจริงแล้วการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มของ SkillLane หรือแพลตฟอร์มใดก็ตาม สามารถผสานเข้ากับการเรียนในห้องเรียนได้ อีกทั้งผู้เรียนยังสามารถทบทวนบทเรียนได้ทุกเมื่อ ทุกที่ ทุกเวลา เช่นกัน

ในช่วงปลายปี 2022 SkillLane ได้ขยายฐานบริการการเรียนออนไลน์ ในหลักสูตรที่มีชื่อว่า TUXSA ซึ่งเป็นปริญญาโทออนไลน์ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยังเป็นหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ครั้งแรกของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกด้วย

ข่าวเทคโนโลยี-ล่าสุด

ตามด้วย SkillLaneCPD ระบบอบรมเก็บชั่วโมงออนไลน์สำหรับคนกลางประกันภัย ผู้แนะนำการลงทุน ผู้วางแผนการลงทุน และนักวิเคราะห์การลงทุน

“ทั้งหมดที่เราทำ เราตั้งใจยกระดับเรื่องของ Lifelong learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต” กษิดิ์เดช กล่าว

พร้อมกันนี้ SkillLane ไม่ได้มองแค่เรื่องของการเรียนเสริมความรู้ สำหรับนักเรียน-นักศึกษาที่ยังอยู่ระหว่างการศึกษาเล่าเรียนเท่านั้น แต่ยังได้มีแนวคิดที่จะเปิดโอกาสให้คนทำงาน สามารถรีสกิล (Reskill) หรืออัปสกิล (Upskill) ง่ายขึ้นอีกด้วย

เนื้อหาที่ได้รับความสนใจเป็นพิเศษบนแพลตฟอร์มของ SkillLane กษิดิ์เดช อธิบายว่า คอร์สเรียนที่เกี่ยวข้องกับหมวดคอมพิวเตอร์ยังคงได้รับความสนใจอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นในด้าน Programing, Product Managment และสาขาที่กำลังมาแรงอย่างสายงานที่เกี่ยวข้องกับ Data ไม่ว่าจะเป็น Data Engineer และ Data Science

คอร์สเรียนที่เกี่ยวข้องกับหมวดคอมพิวเตอร์ยังคงได้รับความสนใจ
ในด้านของคอร์สเรียนที่ปรากฏทั้งหมดบนแพลตฟอร์มของ SkillLane จะมาจากอาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถเฉพาะทางที่มาสร้างคอร์สเรียน โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญที่มีชื่อเสียง และยังไม่มีชื่อเสียง ก็มาเข้าสู่กระบวนการคัดกรอง

จากนั้นก็มีการตรวจสอบคุณภาพ ทั้งตัวของอาจารย์ และเนื้อหาที่อาจารย์ได้สร้างขึ้น อย่างไรก็ดี ในคอร์สเรียนภายใน SkillLane ก็มีคอร์สที่ SkillLane สร้างขึ้นมาเอง และคอร์สที่ร่วมกันสร้างกับผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ซึ่งในออฟฟิศของ SkillLane ก็จะมีสตูดิโอสำหรับการถ่ายทำเอาไว้เช่นกัน

ในด้านการตรวจสอบคุณภาพ SkillLane ต้องการให้ผู้เรียนช่วยรีวิวเนื้อหาที่เรียนไปแล้วด้วย เพื่อให้เรตติ้ง (Ratings) และคอมเมนต์เนื้อหา ซึ่งถ้าหากมีผลการตอบรับของผู้เรียนที่ไม่ดีนัก ก็อาจมีกระบวนการยกเลิกการทำงานร่วมกับอาจารย์คนคนนั้นได้

ทางด้านการตั้งราคาแต่ละคอร์ส กษิดิ์เดช เปิดเผยว่า SkillLane มีหลักคิดจากการเทียบกับราคาตลาด มีการพิจารณาจากชื่อเสียงของผู้สอน รวมถึงการเทียบว่า ถ้าหากตั้งราคาในราคานี้ สามารถทำตลาดได้หรือไม่ ซึ่งมีความแปรผันกันในหลายปัจจัย

สำหรับเทรนด์การเรียนในปีหน้า 2023 กษิดิ์เดช เชื่อว่าน่าจะไม่ต่างจากช่วงที่ผ่านมามากนัก น่าจะยังวนเวียนอยู่ที่หมวดของคอมพิวเตอร์ การลงทุน-การเงินทุกรูปแบบ และการเรียนภาษา ทั้งในหมู่ผู้เรียนที่ต้องการเรียนรู้ภาษาที่ 2 อย่างภาษาอังกฤษ และภาษาที่ 3 ซึ่งเป็นภาษาจีน จะยังได้รับความสนใจจากผู้เรียนเสมอ

ขับเคลื่อนองค์กรด้วย “มนุษย์”
กษิดิ์เดช ยอมรับว่า SkillLane คงไม่สามารถเดินทางมาถึงจุดนี้ได้ หากไม่มีคนที่ทำงานเป็นฟันเฟืองอยู่เบื้องหลังทุกย่างก้าวของ SkillLane โดยที่ SkillLane ได้เรียกคนทำงานที่มีความสามารถของตัวเองว่า “SkillLers” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่ชูความเป็นบริษัทด้าน Education Technology และมีความกล้า พร้อมลุย รวมถึงสนุกไปกับสิ่งที่ทำ

กษิดิ์เดช เน้นว่า ทีมงานของ SkillLane ต้องรักในการเรียนรู้ เพราะตัวองค์กรคือ EdTech ดังนั้นการจะขาดซึ่งความรู้ และการเรียนรู้ไม่ได้

“คาแรกเตอร์ของทีม SkillLers ของ SkillLane ต้องยืดหยุ่นและยอมรับฟังความคิดเห็นผู้อื่น พร้อมสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงการศึกษา ต้องกล้า ลุย และสนุก”

นอกจากนี้ การทำงานในทีมยังเปิดพื้นที่ให้สมาชิกเรียนรู้ เติบโตไปใน Career path ที่สนใจ และวัฒนธรรมขององค์กรเองก็ยังมีการแบ่งปันความรู้หรือ Knowledge Sharing ภายในทีมสม่ำเสมอด้วย

“แผนการทำงานในด้านที่เป็นเทคโนโลยี SkillLane มีการสนับสนุนให้คิด วางแผน และทำงานเองได้ ภายใต้กรอบการทำงานแบบสกรัม (Scrum) ภายใต้แนวคิดเอไจล์ (Agile) ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งใช้กันเป็นปกติอยู่ก่อนแล้ว” กษิดิ์เดช กล่าวปิดท้าย.